นักพัฒนาแบรนด์จะเข้ามาทำหน้าที่สร้างความเป็นเอกลักษณ์ให้กับแบรนด์หรือยี่ห้อนั้นๆ ด้วยการช่วยมองหาเรื่องราว จุดแข็ง หรือจุดแตกต่างของแบรนด์แล้วนำมาทำให้มีความชัดเจนและสื่อสารออกไปสู่ลูกค้าผ่านภาพลักษณ์ สินค้า/บริการ บรรยากาศ การตกแต่ง ฯลฯ
ขั้นตอนการทำงานของนักพัฒนาแบรนด์จะเริ่มต้นจากการรับบรีฟจากลูกค้าก่อน ซึ่งการบรีฟรายละเอียดก็อาจจะคล้ายๆ กับการสัมภาษณ์รายละเอียดจากลูกค้า ตั้งแต่ วิสัยทัศน์ ตัวตน ไปจนถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของธุรกิจของลูกค้า
จากนั้นเมื่อรับบรีฟเสร็จแล้วก็จะนำข้อมูลของลูกค้ามาวิเคราะห์โดยทำการเปรียบเทียบกับข้อมูลของธุรกิจอื่นๆ ที่อยู่ในประเภทธุรกิจเดียวกัน เพื่อมองหาความแตกต่างที่จะเป็นจุดยืนของแบรนด์ของลูกค้าเรา แล้วนำผลวิเคราะห์ที่ได้กลับไปพูดคุยกับลูกค้า
ขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นขั้นตอนของการออกแบบแบรนด์โดยเราจะนำจุดยืน จุดแข็ง จุดแตกต่างของแบรนด์ที่วิเคราะห์ไว้มาออกแบบเป็นส่วนต่างๆ ตั้งแต่ โลโก้ รูปลักษณ์สินค้า หีบห่อบรรจุ การตกแต่งร้าน คุณสมบัติพนักงาน ฯลฯ
สุดท้ายก็นำผลงานที่เราออกแบบมานำเสนอให้กับลูกค้า และเมื่อลูกค้าตัดสินใจนำไปใช้แล้วเราก็ต้องควบคุมการนำไปใช้และติดตาม feedback ที่เป็นผลจากการนำไปใช้
การทำงานร่วมกับอาชีพอื่นของนักพัฒนาแบรนด์ก็จะขึ้นอยู่กับว่าเรารับพัฒนาแบรนด์ให้กับธุรกิจประเภทไหน เพราะหน้าที่ส่วนหนึ่งของเราก็คือการควบคุมการนำไปใช้ซึ่งรวมถึงการสื่อสารความหมายและข้อมูลของแบรนด์ที่เราออกแบบขึ้นมาให้กับพนักงานตำแหน่งต่างๆ ในธุรกิจนั้นให้รับทราบและปฏิบัติตาม
แต่ถ้าพูดถึงการทำงานของนักพัฒนาแบรนด์ในเอเจนซี่ต่างๆ ก็จะมีอาชีพที่เราจะต้องทำงานร่วมด้วย เช่น ผู้บริหารงานลูกค้า (account executive), นักออกแบบกราฟฟิค, ครีเอทีฟ เป็นต้น
อาชีพนี้จะสามารถเจอได้ในบริษัทเอเจนซี่โฆษณา และบริษัทที่รับพัฒนาและออกแบบแบรนด์
ชั่วโมงการทำงานของอาชีพนักพัฒนาแบรนด์ถ้าเป็นคนทำงานฟรีแลนซ์ก็จะมีความไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับการจัดการและการวางแผนการทำงานของตัวเราเอง แต่ถ้าเป็นนักพัฒนาแบรนด์ที่ทำงานในบริษัทเอเจนซี่ต่างๆ ก็จะมีชั่วโมงการทำงานที่ชัดเจนขึ้นมา แต่ในปัจจุบันก็จะมีความยืดหยุ่นอยู่บ้างขึ้นอยู่กับบริษัทที่ทำงาน เช่น อาจจะเข้างานกี่โมงก็ได้แต่ขอให้ทำงาน 8 ชั่วโมง หรือ อาจจะให้นั่งทำงานที่ไหนก็ได้ เข้ามาทำงานที่ออฟฟิศแค่ 3-4 วันต่อสัปดาห์ ฯลฯ
การติดตามข่าวสารและการใฝ่หาความรู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ น่าจะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับบุคลิกหรือนิสัยของคนที่จะประกอบอาชีพนี้เนื่องจากเราต้องวิเคราะห์ทั้งเทรนด์ปัจจุบัน รู้เกี่ยวกับธุรกิจกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่เหมือนกับของลูกค้า ความเข้าใจในผู้บริโภคและการตลาด ความเคลื่อนไหวต่างๆ ของโลก ฯลฯ
คุณค่าของอาชีพที่มีต่อตัวเราในฐานะผู้ประกอบอาชีพก็น่าจะเป็นความภาคภูมิใจที่เราได้มีส่วนช่วยให้ลูกค้าของเราเห็นแนวทางที่เขาจะต้องเดินไปอย่างมั่นคงและประสบความสำเร็จ คนในสังคมรับรู้การมีอยู่ของแบรนด์นั้นๆ และเรายังถือว่าตัวเราเป็นคนที่ช่วยแนะนำให้สังคมรับรู้ถึงแบรนด์ที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน มีความคุ้มค่า ซึ่งถ้าหากไม่สื่อสารออกไปสังคมก็อาจจะเสียโอกาสดีๆ แบบนี้ได้ด้วย
อาชีพนี้ก็เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ไม่จำเป็นต้องเรียนมาเฉพาะทางก็ได้ แต่ก็แน่นอนว่าถ้าได้มีโอกาสเรียนเฉพาะทางก็อาจจะมีพื้นฐานที่พร้อมจะทำงานหรือต่อยอดได้ง่ายกว่า
ส่วนแหล่งข้อมูลสำหรับทำการศึกษาด้วยตัวเอง ก็สามารถค้นหาได้จากอินเทอเน็ตทั่วไปซึ่งปัจจุบันก็มีหลายเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการพัฒนาแบรนด์